Print this page

ธาตุก่องข้าวน้อย (ธาตุถาดทอง) บ้านตาดทอง

      ธาตุก่องข้าวน้อย บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร อยู่ห่างจากจังหวัดยโสธร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๓ ไปทางอำเภอคำเขื่อนแก้ว ประมาณ ๗ กิโลเมตร เลี้ยวเข้าหมู่บ้านตาดทอง ไปอีกประมาณ ๑ กิโลเมตร จะถึงที่ตั้งธาตุก่องข้าวน้อย หรือธาตุตาดทอง หรือธาตุถาดทอง

      ธาตุก่องข้าวน้อยก่อสร้างตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดจากลักษณะที่ปรากฏเป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะล้านช้างที่พบอยู่ทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๓ – ๒๕ สมัยอยุธยาตอนปลาย กรุงธนบุรี ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มชนเชื้อสายลาวที่จะ อพยพมาจากเวียงจันทร์ในสมัยธนบุรีที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดยโสธรในปัจจุบันเป็นผู้ก่อสร้างธาตุเจดีย์ไว้เป็นปูชนียสถาน

      จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่าบริเวณบ้านตาดทอง เป็นชุมชนโบราณ มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จนรับวัฒนธรรมแบบทวารวดี โดยพบใบเสมาปักอยู่ทั่วไปในบริเวณหมู่บ้านและเป็นเมืองโบราณในสมัยขอมโดยพบจารึกที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ กล่าวถึง พระเจ้าอีสานวรมันที่ ๒ (พ.ศ.๑๔๖๘ – ๑๔๗๑) ได้ส่งพระราชธิดาพร้อมด้วยทาสชายหญิง และทรัพย์สิ่งของเป็นจำนวนมาก เพื่อให้มาเป็นมเหสีของเจ้าชายเมืองนี้ ซึ่งสันนิษฐานว่าจะตั้งอยู่ในบริเวณบ้านตาดทอง ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีลูกหลานของพระวอ พระตา ได้อพยพมาตั้งที่บ้านสิงห์ท่า ซึ่งภายหลังยกฐานะเป็นเมืองยโสธร ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ลักษณะทางศิลปกรรม

      ธาตุก่องข้าวน้อย หรือธาตุตาดทอง มีโครงสร้างเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐมีฐาน ๒ ชั้น ทำเป็นแอวขันตามแบบสถาปัตยกรรมล้านช้าง มีเรือนธาตุเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมมีซุ้มจระนำอยู่ทั้งสี่ทิศ ตัวธาตุสูงประมาณ ๑๐ เมตร โดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ

      ส่วนฐาน กว้างด้านละประมาณ ๒ เมตร ทำบัวคว่ำบัวหงายลดหลั่นกันเป็นแอวขันปากพานและย่อมุมไม้สิบสองทั้งสี่มุม ส่วนบนของฐานจะผายออกเพื่อรับเรือนธาตุ ส่วนฐานสูงประมาณ ๓ เมตร

      เรือนธาตุ เป็นทรงสี่เหลี่ยม ทำซุ้มจระนำประดับพระพุทธรูปยืนทั้งสี่ทิศ เหนือซุ้มจระนำทำเป็นลายกระหนกประดับ ที่เสาซุ้มจระนำมีดอกจันทร์เทศขนาดใหญ่ประดับเสาละ ๑ ดอก ส่วนที่เป็นเรือนธาตุผายออกไปเพื่อรับกับส่วนยอดพระธาตุ

      ส่วนยอดธาตุ ทำแปลกกว่าสถาปัตยกรรมล้านช้างทั่วไป คือ มีปลียอดเล็กๆ แซมอยู่ทั้งสี่ด้าน โดยเสริมให้ยอดกลางโดดเด่นขึ้น ตัวยอดแซมไม่ได้เป็นซุ้มแต่ทำเพียงอิงฐานของยอดกลางไว้เท่านั้น ลักษณะยอดทำทรงหีบมีกลีบบัวอยู่ที่โคนหีบสูงชะลูดไปสู่คอขวด แล้วหยักเป็นแอวขันคั่นกับยอดสุดเพื่อให้ยอด สุดดูโดดเด่นยิ่งขึ้นส่วนยอดธาตุสูงประมาณ ๔ เมตร บริเวณรอบธาตุทำเป็นกำแพงแก้วเตี้ยๆ โอบรอบอยู่ทั้ง ๔ ด้านยาวประมาณด้านละ ๕ เมตร บริเวณด้านตะวันออกของธาตุติดกับกำแพงแก้วมีวิหารก่ออิฐหลังเล็กๆ ประดิษฐานพระพุทธรูป ๑ องค์ ก่อขึ้นใน พ.ศ.๒๔๙๕ โดยช่างบ้านตาดทองบริเวณโดยรอบธาตุมีใบเสมาปักอยู่เป็นกลุ่มๆ ลักษณะใบเสมาเป็นหินทรายแดงแกนกลางสลักเป็นภาพสถูป แบบศิลปะทวารวดี และยังมีธาตุที่สร้างในสมัยหลัง เพื่อเก็บอัฐิตามคตินิยมของชาวอีสานตั้งอยู่รายรอบตัวธาตุด้วย

      ธาตุตาดทองนี้มีเรื่องเล่าเป็นนิทานสืบต่อกันมา อธิบายการสร้างธาตุโดยนำไปเชื่อมโยงกับการสร้างพระธาตุพนม ว่ามีผู้คนกลุ่มหนึ่งทราบข่าวว่าจะมีการบูรณะพระธาตุพนม จึงได้พากันรวบรวมของมีค่าจะนำไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนม ได้เดินทางมาถึงบริเวณบ้านตาดทอง พบกับชาวบ้านที่ไปช่วยกันก่อสร้างธาตุ จึงนำถาดทองที่ใช้ใส่ของมีค่าที่จะไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนมมาใส่ไว้ในธาตุนี้ด้วย จึงเป็นที่มาของชื่อ “ธาตุตาดทอง”

      ภายหลังตำนานเรื่องก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ได้ถูกนำเข้ามาเป็นเรื่องของการสร้างธาตุองค์นี้ที่เล่ากันมามีใจความโดยย่อว่าลูกชายได้ฆ่าแม่ด้วยอารมณ์วูบเดียวเนื่องจากโมโหหิวข้าวเมื่อสำนึกผิดจึงสร้างเจดีย์สูงเท่าต้นตาลเพื่อเป็นการไถ่บาปของตน ณ ตรงที่แม่ตาย ธาตุก่องข้าวน้อย ตามการสันนิษฐานคงได้ทำการซ่อมแซมมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีประวัติอ้างอิงไว้แน่นอน แต่ตามหลักฐานประมาณเอาไว้คาดว่ามีจำนวน ๓ ครั้ง คือ

      การซ่อมครั้งที่ ๑ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๖๘ โดยการนำของพ่อกำนันกา เวชกามา (ขณะนั้นเรียกกำนันว่าตาแสง) เพราะสมัยนั้นมีการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๗ และพระครูอุปัชฌาย์คำสิงห์ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสพร้อมกับชาวบ้าน ได้พากันถากถางต้นไม้เถาวัลย์ที่ปกคลุมธาตุออก ธาตุอยู่ในสภาพทรุดโทรม ยอดหักพังเหลือพอเป็นเค้าโครงไว้เท่านั้น จึงได้พากันปั้นอิฐ เผาอิฐเสร็จก็ถึงฤดูทำนาการทำงานซ่อมแซมจึงงดไว้ พอถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จก็เริ่มทำการซ่อมแซมต่ออีก โดยมอบหมายให้พ่อทิดน้อย น้องชายของพ่อกำนันกา ซึ่งเป็นช่าง อุปกรณ์การซ่อมก็เอาวัสดุพื้นบ้าน มีหิน ปูน ยางบง น้ำแช่หนังควายผสมน้ำอ้อยทรายเท่านั้น ซ่อมเสร็จในปี ๒๔๗๐ ทำบุญฉลอง ๓ วัน ๓ คืน

      การซ่อมครั้งที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้เกิดพายุดีเปรสชั่นพัดแรงฝนตกหนัก ต้นไม้หักพังบ้านเรือนราษฎร ได้รับความเสียหาย จึงทำให้ยอดธาตุก่องข้าวน้อยหักลง ได้รายงานให้กรมศิลปากรทราบ ทางกรมศิลปากรจึงได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมมาซ่อมแซมยอดธาตุก่องข้าวน้อยใหม่

      การซ่อมครั้งที่ ๓ ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ โดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาดำเนินการซ่อมเองมาจนถึงปัจจุบัน

เทศบาลตำบลตาดทอง บ้านประชาสรรค์ หมู่ที่ 12 ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร 35000.
โทร. 045-756609 แฟกซ์ 045-580000 อีเมลล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
นายวสันต์ งามเลิศ เจ้าพนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว โทร.085-3084427